ขั้นตอนการไปทํางานต่างประเทศ ต้องทำอย่างไร

0
9628

เพื่อผู้ที่สนใจจะไปทํางานเมืองนอกอ่านก่อนแล้วค่อยตัดสินใจงาน เมืองนอกไม่ทําไม่ตายแต่จ่ายค่าหัวหลายเหมือนตายทั้งเป็น ปัจจุบันการเดินทางไปทํางานต่างประเทศยังเป็นที่นิยมของแรงงานไทยเป็นจํานวนมาก และสามารถนํา รายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจํานวนมหาศาล ผู้ที่จะเดินทางไปทํางานต่างประเทศควรตัดสินใจให้ดีถึงความคุ้มค่า ซึ่งการจะตัดสินใจได้จําเป็นที่คนหางานจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินทางไปทํางานต่างประเทศอย่างถูกต้อง ต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประเทศที่ต้องการไปทํางานและการเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจไปทํางาน 

ขั้นตอนการไปทํางานต่างประเทศ

work-1000618_1280

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมพร้อมเรื่องสุขภาพ

หากท่านต้องการไปทํางานต่างประเทศต้องเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ ก่อนที่จะเตรียมความพร้อมในเรื่องอื่นๆ เพราะหากท่านมีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือเป็นโรคต้องห้ามในการไปทํางานในประเทศนั้น หรือมีโรคประจําตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการทํางานหนัก หรือเป็นโรคที่อาจกําเริบรุนแรงขึ้นเมื่อไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ท่านจะได้เลิกคิดไปทํา งานเมืองนอก ไม่ต้องเสียเงินเพื่อเตรียมตัวในเรื่องอื่น รวมทั้งไม่ต้องดิ้นรนกู้ยืมเงินจํานวนมากเพื่อจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่าย รวมทั้งไม่ต้องเป็นหนี้โดยไม่เกิดประโยชน์

ผู้ที่จะไปทํางานต่างประเทศต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ ทั้งก่อนตัดสินใจไปทํางาน ภายหลังสมัครหรือได้รับคัดเลือกไปทํางานแล้ว และขณะทํางานในต่างประเทศ โดยในแต่ละขั้นจะต้องเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตัว ดังนี้

ก่อนตัดสินใจสมัครไปทํางานต่างประเทศ ควรที่จะต้อง

1. ไปตรวจสุขภาพเบื้องต้นจากสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลในชุมชนซึ่งเสียค่าตรวจไม่มากนัก เพื่อจะได้รู้ว่าท่านเป็นโรคต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ เพราะแต่ละประเทศจะกําหนดโรคต้องห้ามไว้แตกต่างกัน โรคต้องห้ามส่วนใหญ่ ได้แก่ ซิฟิลิส วัณโรคปอด ไวรัสตับอักเสบบี และโรคเอดส์ หากท่านมีโรคประจําตัวอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ควรสอบถามแพทย์ว่า จะเป็นอุปสรรคต่อการไปทํางานเมืองนอกหรือไม่

2. ไปตรวจหาโรคเอดส์ที่คลีนิคนิรนามของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตั้งอยู่ที่ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัด สํานักงานควบคุมโรคติดต่อเขต และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ผู้ที่ไปตรวจไม่ต้องแจ้งชื่อและที่อยู่

3. ต้องรู้ด้วยว่าประเทศที่ท่านสนใจไปทํางานมีโรคต้องห้ามอื่นๆ อีกหรือไม่ เพื่อจะได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้นจากสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลในชุมชนเพิ่มเติม เช่น เกาหลี มีโรคต้องห้ามคือ โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรควัณโรค โรคเท้าช้าง โรคหัวใจทุกชนิด โรคคุดทะราด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตับ โรคจิต โรคประสาท โรคเลือด กระดูกสันหลังคด นิ้วมือนิ้วเท้าขาด กระดูกแขนขาโก่ง ตาบอดสี สายตาสั้น (เกิน 400) และหูตึง ทั้งนี้รายการโรคต้องห้ามแต่ละประเทศสามารถดูได้จากเว็บไซต์สํานักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.overseas.doe.go.th

ข้อควรระวัง : ถ้าไม่อยากถูกหลอกอย่าจ่ายเงินให้กับสายหรือนายหน้า และอย่าจ่ายเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายโดยไม่มีหลักฐาน หรือพยานรู้เห็นเป็นอันขาด

working-1056596_960_720

ภายหลังสมัครงานหรือได้รับคัดเลือกแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้

1. ไปตรวจสุขภาพด้วยตนเองที่สถานพยาบาลตามที่กรมการจัดหางานประกาศรายชื่อไว้ ทั้งนี้ สถานพยาบาลเอกชนเฉพาะที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานเท่านั้น ที่สามารถตรวจสุขภาพคนหางานก่อนเดินทางไปทํางานต่างประเทศได้ ส่วนสถานพยาบาลภาครัฐเช่นโรงพยาบาลประจําจังหวัดต่างๆ สามารถตรวจได้ แต่ทั้งนี้ ในบางประเทศจะกําหนดให้สถานพยาบาลเพียงบางแห่งเท่านั้นที่สามารถตรวจได้

อย่างเช่นกรณีการไปทํางานไต้หวันท่านจะต้องเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาลที่ทางการไต้หวันกําหนดเท่านั้น ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช จุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี ราชวิถี มหาราชนครราชสีมา และลําปาง โดยท่านต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลว่าท่านตรวจโรคเพื่อเดินทางไปทํางานประเทศไหนเนื่องจากรายการตรวจสุขภาพและใบรับรองผลการตรวจสุขภาพของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน (ตัวอย่างหนังสือรับรองผลการตรวจสุขภาพ แบบ ก แบบ ข แบบ ค ตามเอกสารแนบ)

2. นําใบรับรองผลการตรวจสุขภาพไปยื่นต่อกรมการจัดหางาน (กรณีเดินทางไปทํางานโดยกรมการจัดหางานจัดส่ง) หรือบริษัทจัดหางานผู้จัดส่ง (กรณีบริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง) โดยท่านต้องเก็บใบรับรองแพทย์ตัวจริงที่สถานพยาบาลออกให้อีก 1 ชุด ไว้กับตัวเองและนําติดตัวไปด้วย เพื่อใช้แสดงต่อหน่วยงานต่างประเทศ กรณีมีการตรวจสอบ นอกจากนั้นท่านจะต้องเก็บสําเนาใบรับรองแพทย์ไว้ที่ครอบครัวด้วยเพื่อใช้เป็นหลักฐานกรณีที่มีความจําเป็น เช่น เป็นหลักฐานประกอบการร้องทุกข์ กรณีที่ท่านเดินทางไปทํางานแล้วเกิดปัญหาถูกส่งตัวกลับเนื่องจากไม่ผ่านการตรวจโรคซ้ำที่ประเทศนั้น ทั้งนี้ ใบรับรองแพทย์มีกําหนดระยะเวลาการหมดอายุ

ดังนั้นท่านจะต้องสอบถามสถานพยาบาลถึงกําหนดระยะเวลาดังกล่าวด้วย เนื่องจากหากใบรับรองแพทย์หมดอายุก่อนที่ท่านจะเดินทางไปทํางานต่างประเทศ ท่านอาจจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพใหม่ อัตราค่าตรวจสุขภาพจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล และประเทศที่ไปทํางาน แต่ทั้งนี้ จะต้องไม่เกินอัตราที่กรมการจัดหางานกําหนด คือ 1,500 บาท ขอดูรายชื่อสถานพยาบาลตรวจสุขภาพก่อนเดินทางไปทํางานต่างประเทศได้ที่  http://overseas.doe.go.th/health/20140716_hospital.pdf หรือติดต่อสอบถามได้ที่ สํานักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน

3. ต้องระวังรักษาสุขภาพก่อนเดินทาง โดยมีหลักปฏิบัติดังนี้

  • ปฏิบัติตนให้ถูกหลักสุขอนามัย เช่น กินอาหารสุก ดื่มน้ํา สะอาด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกําลังกาย สวมรองเท้าเสมอ และไม่เที่ยวสําส่อนทางเพศ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและป้องกันการรับเชื้อใหม่เข้าสู่ร่างกาย
  • ก่อนเดินทางไม่ควรเลี้ยงฉลองจนเกินสมควร กินอาหารสุกๆ ดิบๆ เพราะอาจทําให้ท่านได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น พยาธิ และไม่ควรดื่มสุรา หรือสิ่งมึนเมา แล้วไปเที่ยวใช้บริการทางเพศโดยไม่ป้องกันซึ่งอาจทําให้ได้รับเชื้อกามโรคหรือเอดส์ได้
  • ก่อนเดินทางประมาณหนึ่งสัปดาห์ ควรไปตรวจเลือด อุจจาระ และปัสสาวะซ้ำที่โรงพยาบาลเดิม เพื่อความแน่ใจว่าท่านไม่ได้รับเชื้อใหม่เข้าสู่ร่างกายหรือเชื้อโรคที่มีอยู่เดิมแสดงอาการ

คำเตือน : อย่า! เลี้ยงฉลองความยินดีด้วยการ ดื่มสุราหรือเที่ยวเตร่จนลืมตัว เพราะเมื่อมีการตรวจโรคซ้ำที่เมืองนอกหากตรวจพบโรคต้องห้ามของประเทศนั้นๆ จะถูกส่งกลับประเทศทันที

ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมความพร้อมเรื่องฝีมือ

construction-workers-60585_960_720

ผู้ที่จะเดินทางไปทํางานตําแหน่งช่างจะต้องผ่านการทดสอบฝีมือจากสถานทดสอบฝีมือที่ได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (ดูรายละเอียดได้ที่เอกสารแนบ) ยกเว้นผู้ที่มีใบรับรองจากสถาบันการศึกษาหรือสมาคมอาชีพได้รับการยกเว้นไม่ต้องทดสอบฝีมือค่าทดสอบฝีมือตามกฎหมายไม่เกิน 500 บาท กรณีมีค่าใช้จ่ายสูงเกิน 500 บาท สถานทดสอบฝีมือจะเรียกเก็บได้ตามอัตราที่อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกําหนด แต่ต้องไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท สอบถามรายชื่อสถานทดสอบฝีมือที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ที่ สํานักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โทร. 0-2643-4987-8

ขั้นตอนที่ 3 การลงทะเบียนไปทํางานต่างประเทศ

การลงทะเบียนผู้ทีประสงค์จะไปทํางานต่างประเทศเป็นวิธีการให้ความคุ้มครองคนหางาน เพื่อลดปัญหาการถูกหลอกลวงโดยสายหรือนายหน้าจัดหางานตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายของคนหางาน

วัตถุประสงค์ในการลงทะเบียน
  1. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนวัยทํางานมีงานทํา
  2. มีรายได้ที่เหมาะสมและได้รับบริการข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานที่รวดเร็ว ถูกต้อง ทั่วถึง ทันเหตุการณ์
  3. เพื่อเตรียมความพร้อมคนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทํางานต่างประเทศ ทั้งด้านสุขภาพ ฝีมือ การเงิน
  4. เพื่อให้คนหางานที่ลงทะเบียนไว้กับศูนย์ทะเบียนคนหางานฯ ได้รับการคัดเลือกไปทํางานต่างประเทศรวดเร็วมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งสายหรือนายหน้า
  5. เพื่อลดค่าใช้จ่ายของคนหางานและเพื่อลดปัญหาการหลอกลวงคนหางานคนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทํางานต่างประเทศต้องลงทะเบียนกับศูนย์ ทะเบียนคนหางานไปทํางานต่างประเทศ (Labour Bank) ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลคนหางานที่ต้องการเดินทางไปทํางานต่างประเทศ โดยคนหางานต้องแจ้งข้อมูลที่สําคัญ เช่น ประเทศ และตําแหน่งงานที่ต้องการทําความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์การทํางาน ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ เป็นต้น พร้อมทั้งแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือรับรองการผ่านงาน โดยนายจ้าง บริษัทจัดหางานที่ต้องการรับสมัครคนหางานเพื่อจัดส่งไปทํางานกับนายจ้างต่างประเทศ จะต้องคัดเลือกคนหางานที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการจากศูนย์ทะเบียนคนหางานฯ เป็นลําดับแรก หลักฐานการลงทะเบียนใช้บัตรประจําตัวประชาชนเป็นหลัก
โดยมีเอกสารประกอบดังนี้
  1. กรณีสมัครในตําแหน่งช่างจะต้องมีหนังสือรับรองการทดสอบฝีมือจากสถานทดสอบฝีมือที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับรอง หรือใบผ่านงานในตําแหน่งที่สมัคร กรณีไม่มีหลักฐานเจ้าหน้าที่จะบันทึกการสมัครในตําแหน่งคนงานทั่วไปให้ก่อนจนกว่าจะนําเอกสารมาแสดงจึงจะเปลี่ยนตําแหน่งให้
  2. ใบรับรองแพทย์ หรือใบรับรองการตรวจสุขภาพสําหรับการไปทํางานต่างประเทศจากสถานพยาบาลที่กรมการจัดหางานอนุญาต
  3. หนังสือเดินทางศูนย์ทะเบียนฯ จะทําการปรับปรุงข้อมูลผู้ลงทะเบียนทุก 4 เดือน โดยศูนย์ทะเบียนจะส่งจดหมายถึงผู้ลงทะเบียนให้ยืนยันการเก็บชื่อไว้ในศูนย์ทะเบียนฯ ถ้าไม่มีการตอบกลับ ศูนย์ทะเบียนฯ จะลบข้อมูลออกจากระบบสถานที่รับลงทะเบียน ศูนย์ทะเบียนคนหางาน ศูนย์บริการการไปทํางานต่างประเทศ (Thailand Overseas Employment Administration) สํานักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายทะเบียนคนหางานและสารสนเทศ ชั้น 1 อาคารสํานักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ 3 บริเวณกระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400 โทร. 0-2245-9435-6 หรือสํานักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ทั้ง 10 เขต หรือสํานักงานจัดหางานจังหวัดทุกแห่ง หรือลงทะเบียน ผ่าน www.overseas.doe.go.th

อ่านต่อ : เตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงแรงงาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here