การเลือกอาชีพและสาขาวิชาที่จะศึกษา ให้เหมาะสมกับตัวเองโดยเน้นเรื่องบุคลิกภาพ บุคคลแต่ละบุคคลย่อมมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน แต่ละคนจะมี ลักษณะที่ชี้เฉพาะตนไม่ว่ารูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ หรือนิสัยใจคอ มีนักวิชาการบางท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “บุคลิกภาพ” คือ ลักษณะส่วนรวมของ บุคคล ซึ่งประกอบด้วยสิ่งที่ปรากฏทางร่างกาย นิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมรวมของบุคคลนั้น
ซึ่งได้รวมอยู่ด้วยกันอย่างผสมกลมกลืนในตัว บุคคลนั้น รวมถึงสิ่งที่เขาชอบและไม่ชอบ สิ่งที่เขาสนใจและไม่สนใจ เป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิตของเขา ความสามารถด้านต่าง ๆ ของเขา ลักษณะของบุคลิกภาพเฉพาะของแต่ละคนนั้น หากบุคคลรู้จักและเข้าใจบุคลิกภาพจนสามารถมองตนได้ตามสภาพความเป็นจริงย่อม ช่วยให้บุคคล ตัดสินใจเลือกแนวทางชีวิต การศึกษา และอาชีพได้อย่างสอดคล้องกับตัวเองมากที่สุด
บุคลิกภาพสำคัญอย่างไร
บุคลิกภาพนั้นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง
- ทางกายภาพ หมายถึง รูปร่างหน้าตาดี ย่อมส่งผลให้ผู้สัมภาษณ์สนใจได้บ้าง และตนเองก็มีความภูมิใจมั่นใจยิ่งถ้ามีสุขภาพที่แข็งแรงว่องไวในการทำงาน ยิ่งน่าประทับใจ
- ทางสมอง สมองดีไม่มีโรคภัยไข้เจ็บก็จะทำให้เขามีความทรงจำดี เชาวน์ปัญญาดี แต่ต้องเป็นผลจากการศึกษาอบรมพื้นฐานด้วย
- ความสามารถ อาศัยประสบการณ์ และความถนัดจากการฝึกฝน
- ความประพฤติ เป็นผู้อยู่ในศีลธรรม สุภาพอ่อนโยน มีมนุษยสัมพันธ์ ไม่เป็นปฏิปักษ์กับสังคม
- ชอบเข้าสังคมมีทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น การแสดงออกต่อเพื่อนฝูง ไม่เห็นแก่ตัว มีน้ำใจต่อผู้อื่นไม่อวดตัว
- อารมณ์ดี ใจเย็น ไม่ฉุนเฉียว อดกลั้นโทสะได้
- กำลังใจ เป็นคนที่จิตใจเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย ไม่เสียขวัญง่าย
บุคลิกภาพมีอิทธิพลต่อการเลือกอาชีพ
เพราะบุคลิกภาพมีอิทธิพลต่อการเลือกอาชีพ โดยบุคคลจะเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพของตน บุคลิกภาพเฉพาะอย่างมีความสัมพันธ์กับอาชีพ เฉพาะอย่าง ทฤษฎีการเลือกอาชีพของ “จอห์นแอล ฮอลแลนด์”
1. แนวคิดพื้นฐาน 4 ประการ
ประการที่ 1 อาชีพเป็นเครื่องแสดงออกทางบุคลิกภาพ บุคคลจะเลือกอาชีพใดย่อมแสดงว่าบุคลิกภาพของ เขาจะปรากฏออกมาในทิศทางเดียวกัน
ประการที่ 2 บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลมีความสัมพันธ์กับชนิดของสิ่งแวดล้อมในการทำงานของ บุคคลนั้น ดังนั้น บุคคลจึงมีแนวโน้มจะหันเข้าหางาน หรืออาชีพที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของเขา
ประการที่ 3 บุคคลจะค้นหาสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เขาได้ฝึกทักษะ และใช้ความสามารถของเขา ทั้งยัง เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงเจตคติ ค่านิยม และบทบาทของเขา
ประการที่ 4 บุคลิกภาพของสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ดังนั้น เมื่อสามารถ ทราบบุคลิกภาพและสิ่งแวดล้อมของบุคคลแล้ว ก็จะทำให้ทราบผลที่จะติดตามมาของบุคคลนั้นด้วย เช่น การเลือกอาชีพ ความสำเร็จในอาชีพ ตลอดจนทั้ง พฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งการศึกษาอาชีพและสังคมด้วย
2. สาระของทฤษฎี
ฮอลแลนด์ได้สรุปทฤษฎีของเขาไว้ 4 ประการดังนี้ คือ
2.1 ในสังคมของวัฒนธรรมตะวันตก สามารถแบ่งบุคคลออกตามลักษณะของบุคลิกภาพได้ 6 ประเภท คือ พวกชอบเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม (Realistic) พวกที่ชอบเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ใช้ความคิด การแก้ปัญหา (Intellectual) พวกชอบเข้าสังคม (Social) พวกชอบระเบียบแบบแผน (Conventional) พวกที่มีความทะเยอทะยาน ชอบมีอำนาจ (Enterprising) และพวกชอบศิลปะ (Artistic)
2.2 บรรดาอาชีพต่าง ๆ นั้น สามารถแบ่งตามลักษณะและสภาพแวดล้อมได้ 6 ชนิด ซึ่งสอดคล้องกับบุคลิกภาพของคนทั้ง 6 ประเภท
2.3 บุคคลย่อมแสวงหาสภาพแวดล้อมและอาชีพ ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ความสามารถและทักษะ เพื่อแสดงออกถึงค่านิยมและทัศนคติ ตลอดจนการ มีบทบาทที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงบทบาทที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง
2.4 พฤติกรรมของบุคคลสามารถอธิบายได้จากปฏิกิริยาระหว่างแบบฉบับแห่งพฤติกรรมของ เขากับสภาพแวดล้อมของเขา
ท่านมีแนวถนัดด้านใดบ้าง
คนเรานั้นมีความถนัดในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลาย ๆ สิ่งด้วยกันทุกคน แต่มีระดับความสามารถมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนมีความถนัดใน การทำงานหลาย ๆ ด้าน แต่บางคนมีความถนัดในการทำงานด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะความถนัดก็คือ ระดับความสามารถของบุคคล ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ โดยที่บุคคลนั้น ๆ ได้รับการฝึกอบรม หรือมีประสบการณ์ในงานนั้นๆ มาคู่กัน
และสามารถที่จะนำ ประสบการณ์หรือความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมนั้นไปใช้ให้ เป็นประโยชน์ สำหรับการสำรวจตัวท่านเองว่าเป็นคนอย่างไร มีบุคลิกภาพอย่างไร ตลอดจนพฤติกรรมและลักษณะที่เป็นทั้งข้อดีข้อเสีย มีความเชี่ยวชาญ ชอบงาน ประเภทใด และมีความถนัดทางด้านใด จะช่วยให้เราสามารถมองภาพที่เป็นตัวเองได้ทั้งหมด
จอห์น แอล ฮอลแลนด์ ได้จำแนกประเภทอาชีพตามบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 6 กลุ่ม ซึ่งสามารถตัดสินใจก่อนตัดสินใจเลือกอาชีพดังนี้
กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีบุคลิกภาพแบบจริงจัง (Realistic)
- ลักษณะโดยทั่วไป
ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ จะชอบกิจกรรมที่ต้องใช้พละกำลังชอบทำจักรกล ขาดทักษะในการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องสังคมกับบุคคลอื่น ไม่ชอบเป็นจุดสนใจของผู้อื่น ค่อนข้างก้าวร้าว มีลักษณะเป็นชาย มีค่านิยมทางเศรษฐกิจและการเมือง ในรูปแบบที่มีระเบียบแบบแผนยึดถือประเพณีนิยม
- ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความอดทน มีความบากบั่น กล้าแสดงผลงาน ขาดทักษะในการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีบุคลิกภาพแบบใช้ปัญญา และความคิดแบบนักวิชาการ (Investigative)
- ลักษณะโดยทั่วไป
ผู้ที่มีบุคลิกแบบนี้จะชอบคิด สังเกต วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจารณ์อย่างมีเหตุผล ชอบแก้ปัญหา ชอบใฝ่หาความรู้ มีหลักการ ชอบทำงานที่สลับซับซ้อน มากกว่าเป็นผู้ลงมือทำ ไม่ติดประเพณีนิยมหลีกเลี่ยงการค้า การชักชวน การเข้าสังคมและการเลียนแบบ
- ลักษณะเด่น
มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความคิดเห็นรุนแรง มีความบากบั่นอุทิศเวลาให้กับงาน เก็บตัวไม่ใคร่สนใจ
- การประเมินตนเอง
มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบเอาอย่างใครสูง มีความร่าเริงต่ำ
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีบุคลิกภาพแบบศิลปิน (Artistic)
- ลักษณะโดยทั่วไป
ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ชอบกิจกรรมเกี่ยวกับนามธรรม เป็นอิสระ รักความงาม มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบใช้ชีวิตและกิจกรรมแบบตามลำพังไม่ค่อยควบคุมตัวเอง มักทำตามใจที่ตนปรารถนา มีความต้องการแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะตัวของตัวเอง ชอบงานทางศิลปะ ไม่ชอบเลียนแบบ มีความคิดริเริ่ม หลีกเลี่ยงงานประเภทใช้ระเบียบแบบแผน
- ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
มีสุนทรีย์ มีศิลปะ ชอบคิดคำนึง ชอบครุ่นคิดคนเดียว เก็บตัว
- การประเมินตนเอง
มีความเป็นอิสระสูง มีความเข้าใจในตนเองสูง มีความสามารถในการควบคุมตนเอง มีความสามารถในการแสดงความรู้สึก
กลุ่มที่4 กลุ่มที่มีบุคลิกภาพแบบบริการสังคม และชอบสมาคม (Social)
- ลักษณะโดยทั่วไป
ผู้มีบุคลิกภาพแบบนี้ชอบติดต่อกับคน ชอบสนทนา ชอบให้ความรู้ สอนผู้อื่น ชอบแสดงตัวร่าเริง มีความรับผิดชอบ มีทักษะทางภาษา ต้องการความสนใจ ชอบ ช่วยเหลือผู้อื่น มีลักษณะเป็นผู้หญิง หลีกเลี่ยงการใช้ความคิดทางปัญญา มีแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงความรู้สึก หลีกเลี่ยงงานที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ หรือทางวิทยาศาสตร์
- ลักษณะเด่นของบุคลิกภาพ
ชอบสมาคม ร่าเริง ชอบเที่ยว รักษาประเพณี มีความรับผิดชอบ มีอำนาจอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นๆ มีลักษณะท่าทาง นิสัยเป็นหญิง
กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่มีบุคลิกภาพแบบกล้าคิดกล้าทำ (Enterprising)
- ลักษณะโดยทั่วไป
จะมีลักษณะของความเป็นผู้นำ มีความคิดริเริ่ม มีความเชื่อมั่นในตัวเองกล้าโต้แย้ง กล้าได้กล้าเสีย พร้อมที่จะทดลอง มีความเป็นอิสระ มีความสนใจอำนาจ มีความก้าวร้าวทางวาจา มีทักษะในการเจรจา มักหลักเลี่ยงสภาพการณ์ที่ต้องใช้กำลังทางปัญญาอันยาวนาน ไม่ชอบกิจกรรมที่เป็นระเบียบแบบแผน
- ลักษณะเด่น
กล้าคิดกล้าทำ ชอบวางแผน ชอบสมาคม มีอำนาจเหนือผู้อื่น ร่าเริง สนุกสนาน ทำตามอารมณ์ ไม่ชอบใช้กำลังความคิดอันยาวนาน
- การประเมินตนเอง
มีความเป็นผู้นำ ชอบการสมาคม มีความก้าวร้าว มีความเข้าใจตนเอง
กลุ่มที่ 6 กลุ่มที่มีบุคลิกภาพแบยึดมั่นและมีระเบียบแบบแผน (Conventional)
- ลักษณะโดยทั่วไป
มักชอบใช้กิจกรรมเป็นรูปธรรมและกิจกรรมทางภาษายึดถือประเพณี ชอบทำตามระเบียบแบบแผนมากกว่าการริเริ่มด้วยตนเอง เป็นพวกวัตถุนิยมและ เจ้าระเบียบ ชอบการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ชอบเลียนแบบ เป็นผู้ตาม
- ลักษณะเด่น
อาศัยผู้อื่น รักษาระเบียบประเพณี
- การประเมินตนเอง
มีจิตใจที่ทำอะไรทำจริง เคร่งครัดในระเบียบแบบแผน
หากท่านประเมินตนเองได้แล้ว ว่าตัวเองจัดอยู่ในกลุ่มไหน ต่อไปท่านก็คงจะสามารถตัดสินใจเลือกงานที่ทำให้เหมาะสมกับตัวเองได้นะคะ และสิ่งที่คุณเลือกก็จะเป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข เพราะเป็นงานที่ถนัดกับเรา เพราะเราเลือกจากความเหมาะสมในการประเมินตัวเองคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงแรงงาน