สานต่อธุรกิจครอบครัวอย่างไร ไม่ทะเลาะกับที่บ้าน

0
5587

เมื่อลูกหลานเจ้าของธุรกิจถึงเวลาต้องสานต่อธุรกิจครอบครัว ของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เพื่อนๆอาจมองว่า “น่าอิจฉา”ที่มีต้นทุนชีวิตดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การก้าวเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดนะคะ !! ต้องยอมรับว่า พ่อแม่บางคนก็ไม่ปล่อย ให้ลูกเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจครอบครัวก็จริง แต่อำนาจการตัดสินใจทั้งหมดยังอยู่กับรุ่นบุกเบิก ทีนี้เวลาคนรุ่นใหม่คิดที่จะปรับเปลี่ยนอะไรก็เป็นไปได้ยาก เพราะ “เจ้าของอำนาจจริงๆ” ไม่เห็นด้วย

นี่เป็นเห็นผลหนึ่งที่ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถสืบทอดได้หลายรุ่นนัก ถ้าครอบครัวไหนคุยกันได้ ถือว่าโชคดีมากๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วจะทะเลาะกัน !! บางครอบครัว ลูกเลือกที่จะเดินออกไปทำธุรกิจของตัวเองซะเลย จะได้มีอำนาจเต็มตัว ซึ่งประสบความสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้างแตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อลดการเกิดปัญหา การมีข้อตกลงร่วมกันก่อนทำธุรกิจครอบครัวจึงสำคัญ

1. เคารพซึ่งกันและกัน

children-286239_1280

คนเป็นพ่อแม่ มักคิดว่าลูกเด็กในสายตาตัวเองตลอดเวลา แต่เมื่ออยากให้ลูกเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว ต้องอย่าลืมว่าเค้ามีความคิดสมัยใหม่ ทันเทคโนโลยีมากกว่า มีความรู้ใหม่ๆเช่นกัน เพราะฉะนั้น จงเชื่อว่าความรู้ที่ลูกมีจะสามารถบริหารจัดการธุรกิจไปได้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือเป็นที่ปรึกษา เป็นกำลังเสริม เป็นแรงหนุนอยู่เบื้องหลังดีกว่าค่ะ

ส่วนลูก ก็อย่าลืมบทบาทของตัวเอง เวลางาน คืองาน นอกเวลางาน ก็คือลูกคนหนึ่ง ฉะนั้นต้องให้เกียร์ติและเคารพเสมอ ถ้าเรื่องส่วนตัวที่พ่อแม่บอก ก็ยังต้องเชื่อฟังกัน เช่นการที่พ่อแม่เตือนว่า “อย่าไปเที่ยวบ่อยนัก เงินจะหมด จะดูแลธุรกิจครอบครัวไม่ได้” นี่ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทำถูกต้อง ลูกก็ต้องเชื่อฟังเช่นกันค่ะ

2. อย่าลืมบทบาทหน้าที่

person-1138446_1280

อย่างที่ทราบกันว่าธุรกิจกับครอบครัว มี 2 ความสัมพันธ์ นั่นก็คือในฐานะธุรกิจ และสายเลือด (รวมถึงญาติพี่น้อง) จะมองว่าการทำธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นจุดแข็งก็ใช่ แต่ในขณะเดียวกันจะมองว่าเป็นเรื่องที่เปราะบาง ความสัมพันธ์แตกหักง่าย ก็ถูกอีก

“การจัดการบทบาทที่ชัดเจน จะทำให้ช่วยแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานได้”


คำถามคือ…แล้วเราจะแบ่งบทบาทยังไง?

บางครอบครัวเรียกสิ่งนี้ว่า “ธรรมนูญครอบครัว” หรือข้อกำหนดของครอบครัว เป็นการกำหนดบทบาทที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน เป็นที่เข้าใจร่วมกัน เห็นพ้องต้องกัน ธรรมนูญครอบครัวนี้จะระบุเงื่อนไขต่างๆชัดเจน ทั้งในเรื่องงานและครอบครัว เช่น ใครที่สามารถเข้าทำงานในธุรกิจของครอบครัวได้, สมาชิกทุกคนต้องร่วมประชุม(ทานอาหาร)ร่วมกันอาทิตย์ละ 1 ครั้ง, เงื่อนไขการเบิกเงินกองกลาง ฯลฯ

3. การจัดการกับปัญหา และการทะเลาะกัน

meeting-593301_1280

เมื่อธุรกิจครอบครัวเกิดปัญหา สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ เมื่อความคิดไม่ตรงกัน คน 2 รุ่นจะทะเลาะกันหรือไม่? เมื่อเกิดปัญหาจึงต้องคุยกันว่าจะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร อาจจะแบ่งกันดูแลคนละเรื่องไปเลยเพื่อลดการก้าวก่ายหน้าที่กัน หรืออาจจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างชัดเจนว่าควรจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร

และก่อนที่จะตัดสินใจรับช่วงต่อธุรกิจ อยากให้ทายาทธุรกิจควรพิจารณาถึงประเด็นนี้ดีๆ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าพร้อมจริงมั้ย? ที่จะต้องเผชิญทั้งปัญหาเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัว คุณจะเบื่อมั้ย จะแก้ไขได้มั้ย และจะแก้ไขอย่างไร ถ้าวันนี้คุณมีคำตอบ (มีทางหนีทีไล่) ให้ตัวเองแล้ว คุณก็พร้อมที่จะรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวแล้วแหละค่ะ

4. การสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two-way Communication)

คนสมัยก่อนหรือแม้แต่การทำงานออฟฟิตส่วนมากจะเป็นการสื่อสารทางเดียว คือ เจ้านายสั่งการ => ลูกน้องทำตาม แต่จริงๆแล้วคนปฏิบัติการจะรู้ปัญหามากกว่า เพราะได้เห็นปัญหาจริงๆ แต่ก็ไม่สามารถออกความคิดเห็นอะไรได้ เพราะไม่มีอำนาจ “ปัญหา” จึงไม่ได้รับการแก้ไขได้อย่างถูกต้อง

telephone-586268_1280

ธุรกิจครอบครัว จึงน่าจะนำวิธีนี้มาปรับใช้กับธุรกิจ หมายความว่า คนทั้ง 2 รุ่น มีสิทธ์ออกความคิดเห็นเท่าเทียมกัน พ่อแม่มีอำนาจสั่งการได้ ลูกก็น่าจะมีสิทธ์ในการแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน ด้วยการ

  • รับฟัง มากกว่าเอาชนะ

คุยกันให้มาก ปัญหาส่วนใหญ่ของธุรกิจครอบครัวที่ทำให้ไปไม่รอดเพราะคุยกันน้อย คิดว่าอีกฝ่ายจะเข้าใจตน จริงๆไม่ใช่นะคะ มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ ไม่ใช่คาดหวังว่าคนอื่นจะเข้าใจเรา

  • ระดมความคิด มากกว่าถกเถียง

เสนอความคิดอย่างชาญฉลาด หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ ถ้าไม่เห็นด้วยกับความคิดของอีกฝ่ายต้องมีวิธีอธิบายเหตุผลในเชิงบวก เช่นชื่นชมไอเดียก่อนที่จะบอกว่าเราเห็นต่างว่าอย่างไร ไม่ใช้บอกแต่ว่าของคนอื่นไม่ดีๆ หรือคอยตำหนิท่าเดียว

การส่งมอบธุรกิจครอบครัว เป็นหน้าที่ของคนทั้ง 2 รุ่น จะคาดหวังจากรุ่นใดรุ่นหนึ่งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ลูกต้องพร้อมเรียนรู้และเผชิญปัญหา ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ต้องพร้อมที่จะถ่ายทอดและมอบอำนาจการบริหารธุรกิจครอบครัวให้ลูกเช่นกัน สิ่งสำคัญคือการสื่อสาร การปรึกษา หรือพูดคุยกันให้มากๆเป็นสิ่งดีที่สุดที่จะทำให้คนทั้ง 2 รุ่นเข้าใจกัน และสามารถนำพาธุรกิจครอบครัวให้อยู่รอดได้

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here