ไม่ได้เรียนการตลาด ก็วิเคราะห์ SWOT ได้

0
7213

บริษัทใหญ่ๆ กว่าจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือออกกลยุทธ์ใหม่แต่ละอย่างนั้น ต้องผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายว่า อะไรคือข้อดีข้อเสีย! อะไรคือความเป็นไปได้ของธุรกิจ! จะต้องมั่นใจว่าสิ่งที่จะทำนั้นต้องเกิดผลดี หลายๆบริษัทจึงมีแผนก R&D โดยเฉพาะเลยทีเดียว (Research & Development หรือแผนกวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ) เรียกได้ว่ามีทีมที่แข็งแรงมาก บริษัทใหญ่จึงสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ หรือไม่ก็สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดได้จนเป็นที่น่าพอใจ

แล้วถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ อย่าง SME ล่ะ หรือเป็นแม่ค้าธรรมดาที่ไม่ได้จบการตลาด
ไม่ได้มีทีมงานวิจัยโดยเฉพาะ จะทำอย่างไร?

จริงๆแล้ว SWOT ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวเรานี่แหละค่ะ การวิเคราะห์ SWOT อาจไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือในการวิเคราะห์ขนาดนั้น แต่หากเข้าใจโครงสร้างและเป้าหมายในการนำ SWOT ไปใช้ แม่ค้าธรรมดาอย่างเราๆก็สามารถวิเคราะห์ SWOT ได้เช่นกัน ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันว่า จุดประสงค์ของ SWOT คืออะไร และโครงสร้างมีอะไรบ้าง

SWOTคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

SWOT คือทฤษฏีทางด้านการตลาดที่ใช้วิเคราะห์สภาพขององค์กร ซึ่งจะวิเคราะห์ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เพื่อค้นหาจุดเด่นจุดด้อยของบริษัท ประโยชน์ของการวิเคราะห์ SWOT คือทำให้เรามองเห็นภาพรวมขององค์กร มองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเมื่อเราเห็นภาพรวมเหล่านี้แล้ว จะง่ายต่อการกำหนดวิสัยทัศน์ และทิศทางของบริษัทต่อไป

SWOT ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

  • SWOT เป็นตัวย่อจากคำ 4 คำ
  • Strengths : จุดแข็ง หรือข้อได้เปรียบ
  • Weaknesses : จุดอ่อน หรือข้อเสียเปรียบ
  • Opportunities : โอกาสที่จะดำเนินการได้
  • Threats : อุปสรรค หรือข้อจำกัดต่างๆ
  • ซึ่ง จุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses) เป็น ปัจจัยภายในองค์กร
  • โอกาส (Opportunities) อุปสรรค(Threats) เป็น ปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้

SWOT-chart

การวิเคราะห์ SWOT

การประเมินสภาพแวดล้อม “ภายใน” องค์กร
เป็นการพิจารณาทรัพยากรและความสามารถภายในองค์กรที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งโครงสร้าง ระบบ ระเบียบ วิธีปฏิบัติงาน บรรยากาศในการทำงานและทรัพยากร(คนงาน เงินทุน วัสดุ) บริษัทต้องประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนเป็นระยะ เพื่อส่งเสริมจุดแข็งที่ดีอยู่แล้ว และพยายามหาทางแก้ไขจุดอ่อนที่มี

1. จุดแข็งขององค์กร (Strengths)

เป็นการวิเคราะห์จากมุมมองของผู้ที่อยู่ภายในองค์กร ว่ามีปัจจัยภายในอะไรบ้างที่เป็นข้อได้เปรียบที่จะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาองค์กรได้ เช่น
บริษัทมีทีมวิจัยและพัฒนาที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถสร้างสินค้าหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทได้
บริษัทไม่มีปัญหาเรื่องเงิน มีหนี้สินน้อย มีสภาพคล่องสูง

2. จุดอ่อนขององค์กร (Weaknesses)

เป็นการวิเคราะห์ ปัจจัยภายในจากมุมมองของผู้ที่อยู่ภายในอีกเช่นกัน แต่จะวิเคราะห์ถึงจุดด้อย หรือข้อเสียเปรียบขององค์กรที่ควรปรับปรุง หรือแก้ไขให้หมดไป ซึ่งถ้าแก้ไปได้ก็เป็นประโยชน์ต่อองค์กร

  • ไม่มีโรงงานเป็นของตัวเอง ต้องเช่าโรงงานและโกดังเก็บสินค้า ซึ่งต้องเสียค่าเช่า ทำให้ต้นทุนสินค้าสูง
  • ทีมผลิตมีประสบการณ์การทำงานน้อย กระบวนการผลิตจึงช้า และเมื่อเกิดปัญหาต้องใช้เวลาแก้ไขนาน ทำให้การผลิตสินค้าหยุดชะงักบ่อยๆ

architecture-22039_1280

การประเมินสภาพแวดล้อม “ภายนอก” องค์กร

เป็นการประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมีทั้งโอกาส และอุปสรรค์ที่กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศ (รวมถึงต่างประเทศด้วย) และจะมีผลกระทบต่อองค์กรไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

3. โอกาส (Opportunities)

เป็นการวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยใดที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อองค์กรได้บ้าง

  • เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็งขึ้น ปัญหาภายในน้อยลง ทำให้ต่างชาติกลับมาเชื่อมั่นอีกครั้ง
  • ต่างชาติเริ่มกลับมาลงทุนระยะยาว ทำให้เรามีออเดอร์สั่งซื้อวัตถุดิบป้อนโรงงานอย่างต่อเนื่อง
  • แนวโน้มสินค้าไทยมีการส่งออกมากขึ้น

4. อุปสรรค (Threats)

เป็นการวิเคราะห์ภายนอกองค์กร ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวม และจะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรง หรือทางอ้อมต่อองค์กรด้วย เช่น

  • ราคาน้ำมันโลกมีความผันผวน และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ระยะยาว จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และต้นทุนการขนส่งขององค์กรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • หากต่างชาติเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจำเป็นต้องชะลอการนำเข้า อาจกระทบกับองค์กรได้ ถ้าสินค้าเราถูกไปประเทศนั้นๆก็ต้องถูกลดจำนวนการสั่งซื้อไปด้วย

ย้อนกลับมาที่บริษัทเล็กๆอย่างเราอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าโครงร้างการวิเคราะห์ SWOT ก็คือ การวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ลองมองธุรกิจของเราดูว่า มีอะไรที่เป็น จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค์บ้าง จากนั้นมาวิเคราะห์ว่าเราเราจะใช้ข้อดีจากสิ่งที่มีอย่างไร แล้วจะกำจัด หรือแก้ไขข้อเสียอย่างไรอาจจะระดมความคิดเห็นจากคนรอบข้างด้วยก็ได้ เพราะตอนนี้เราก็เข้าใจโครงสร้างของ SWOT แล้ว การนำมาใช้ประโยชน์ก็ไม่ยากแล้ว จริงมั้ยคะ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here