ผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะ เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีและใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ผ้าบาติกบางชิ้นอาจจะผ่านขั้นตอนการปิดเทียน แต้มสี ระบายสีและย้อมสีนับเป็นสิบ ๆ ครั้ง ส่วนผ้าบาติกอย่างง่ายอาจทำโดยการเขียนเทียนหรือพิมพ์เทียนแล้วจึงนำไปย้อมสีที่ต้องการ
แหล่งกำเนิดของผ้าบาติกมาจากไหนยังไม่เป็นที่ยุติ นักวิชาการชาวยุโรปหลายคนเชื่อว่ามีในอินเดียก่อน แล้วจึงแพร่หลายเข้าไปในอินโดนีเซียอีกหลายคนว่ามาจากอียิปต์หรือเปอร์เซีย แม้ ว่าจะได้มีการค้นพบผ้าบาติกที่มีอายุเก่าแก่ในประเทศอื่น ทั้งอียิปต์ อินเดีย และญี่ปุ่นแต่บางคนก็ยังเชื่อว่า ผ้าบาติกเป็นของดั้งเดิมของอินโดนีเซีย และยืนยันว่าศัพท์เฉพาะที่เรียกวิธีการและขั้นตอนในการทำผ้าบาติก เป็นศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย สีที่ใช้ย้อมก็มาจากพืชที่มีในอินโดนีเซียแท่งขี้ผึ้งชนิดที่ใช้เขียนลายก็ เป็นของอินโดนีเซีย ไม่เคยมีในอินเดียเลย เทคนิคที่ใช้ในอินโดนีเซียสูงกว่าที่ทำกันในอินเดีย และจากการศึกษาค้นคว้าของ N.J.Kron นักประวัติศาสตร์ชาว ดัตช์ก็สรุปไว้ว่าการทำโสร่งบาติกหรือโสร่งปาเต๊ะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนติดต่อกับอินเดีย
ขอบขอบคุณรูปภาพจากเฟสบุ๊ค : ร้าน ส.ไหมไทย นครศรีธรรมราช จำหน่าย เสื้อบาติก สูทผ้าไหม ผ้าทอ
จากการศึกษาของบุคคลต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่า แม้ว่าจะมีการค้นพบลักษณะผ้าบาติกในดินแดนอื่น ๆ นอกจากอินโดนีเซีย แต่ก็คงเป็นลักษณะเฉพาะท้องถิ่น วิธีการปลีกย่อยจะแตกต่างกันตามวิธีการทำผ้าของชาติต่าง ๆ ที่จะให้มีลวดลายสีสัน ผ้าบาติกของอินโดนีเซียเอง คงไม่ได้รับการถ่ายทอดจากชาติอื่น ในทางกลับกันในระยะต่อมาการทำผ้าบาติกของอินโดนีเซียได้รับการเผยแพร่ไปยัง ชาติอื่น ๆ ส่วนการทำผ้าโสร่งบาติกนั้น คงมีกำเนิดจากอินโดนีเซียค่อนข้างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก : krabibatik.wordpress.com


วิธีการทำผ้าบาติก ไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มต้นเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
คำว่าบาติก (Batik) หรือปาเต๊ะ เดิมเป็นคำในภาษาชวาใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายที่เป็นจุด คำว่า “ ติก ” มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือจุดเล็กๆมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าตริติก หรือ ตาริติก ดังนั้นคำว่า บาติกจึงมีความหมายว่าเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ ด่างๆ
วิธีการทำผ้าบาติกในสมัยดั้งเดิมใช้วิธีการเขียนด้วยเทียน (wax- writing) ดัง นั้นผ้าบาติกจึงเป็นลักษณะผ้าที่มีวิธีการผลิตโดยใช้เทียนปิดในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติด สี แม้ว่าวิธีการทำผ้าบาติกในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากแล้วก็ตาม แต่ลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของผ้าบาติกก็คือ จะต้องมีวิธีการผลิตโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีหรือปิดส่วนที่ ไม่ต้องการให้ติดสีซ้ำอีก
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำผ้าบาติก
- ผ้าใยธรรมชาติ เสื้อยืดผ้า COTTON เสื้อสำเร็จรูปใยธรรมชาติ เช่น ป่าน ลินิน ไหม สปันบอนด์ เรยอน แพร ฯลฯ
- เทียนเขียนผ้าบาติก ภาชนะอลูมเนียมสำหรับใส่น้ำเทียน
- ปากกาสำหรับเขียนเทียน หรือจันติ้ง (Tjantion) เบอร์ต่างๆ เพื่อใช้เดินเส้น
- แปรงขนกระต่าย พู่กันขนาดต่างๆ (พู่กันกลมเบอร์ 7,9,12 พู่กันแบนเบอร์ 20 หรือเบอร์ 22)
- กรอบไม้ (Frame=เฟรม) เป็นโครงสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ขึงผ้าให้ตึง หมุดสำหรับติดหรือแม็กซ์เย็บกระดาษเอาไว้สำหรับกด
- สีสำหรับระบายผ้าบาติก เช่น สีแดง น้ำเงิน เหลือง ม่วง ฟ้า เขียว ส้ม ดำ ฯลฯ
- ดินสอขนาด 4B หรือ 6B ใช้สำหรับร่างลาย และกระดาษปรู๊ฟใช้สำหรับสเก็ตซ์ลาย และปากกาเมจิกสำหรับเขียนลาย
- กระปุกกลมมีฝาปิดสำหรับใส่สีต่างๆ และแก้วพลาสติกสีขาว กระปุกหรือถ้วยแก้วขนาดใหญ่สำหรับใส่น้ำล้างพู่กัน 2 ใบ
- เตาไฟฟ้าสำหรับอุ่นน้ำเทียน
แหล่งจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์
- วัสดุอุปกรณ์สำหรับทำผ้าบาติก สามารถหาซื้อได้บริเวณร้านค้าหน้าวิทยาลัยเพาะช่าง พาหุรัด (ใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ) และร้านศึกษาภัณฑ์พานิชทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียงที่เราอาศัยอยู่
วิธีการทำผ้าบาติก
- เตรียมลาย สเก็ตซ์ลายลงบนกระดาษลอกลายด้วยดินสอ แล้วใช้ปากกาเมจิกเขียนลายให้คมชัด (หรือคัดลอกจากสมุดภาพก็ได้)
- นำผ้าขาวหรือเสื้อขาวมาทำความสะอาดโดยการซักหรือต้มแล้วตากให้แห้ง
- นำเทียนใส่ภาชนะตั้งไฟให้ร้อนจนเทียนละลายแล้วค่อยยกภาชนะลง จากนั้นใช้พู่กันแบบจุ่มน้ำเทียนร้อนๆ มาทาบนเฟรม รอจนเทียนเย็นจึงนำผ้าขาวมาขึงบนเฟรมให้ตึง โดยยึดผ้ากับเฟรมด้วยหมุด
- นำผ้าขาวที่ขึงบนเฟรมวางทาบบนกระดาษลอกลายที่เลือกไว้ แล้วร่างลายบนผ้าด้วยดินสอดำ โดยเขียนเส้นดินสอเบาๆ หรือคัดลอกลายจากสมุดภาพ
- นำจันติ้งจุ่มน้ำเทียนร้อนในภาชนะแล้วเขียนเส้นบนผ้าตามแบบ ระวังอย่าให้น้ำเทียนร้อนเกินไป เส้นเทียนจะพร่าแตกหรือเส้นใหญ่เกินไปได้ และถ้าใช้น้ำเทียนที่เย็นเกินไปเส้นเทียนอาจจะไม่ซึมลงไปถึงด้านล่างของผ้า เมื่อลงสี สีจะซึมออกมาปนกันทำให้ลายที่ลงไว้ไม่สวยเป็นตำหนิ
- ผสมสีบาติกโดยใช้น้ำร้อนหรือน้ำอุ่นจนได้ครบทุกสีตามต้องการ จากนั้นนำสีมาใส่ในกระปุกที่มีฝาปิด ใช้พู่กันแบนจุ่มน้ำเปล่าระบายให้ทั่วลายทิ้งไว้ให้หมาดๆ ใช้พู่กันจุ่มสีระบายตามแบบหรือตามต้องการ (การจุ่มสีแต่ละสีก่อนระบายให้ล้างพู่กัน 2 น้ำ แล้วเช็ดพู่กันให้แห้งก่อนทุกครั้ง)
- เมื่อลงสีเสร็จแล้ว นำผ้ามาตากแดดให้แห้งสนิท แล้วใช้แปรงขนกระต่ายจุ่มโซเดียมซิลเกตทาเคลือบให้ทั่ว ทิ้งไว้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง จึงนำไปล้างน้ำเปล่าจนน้ำสีออกหมดและน้ำใส จากนั้นนำผ้ามาต้มในน้ำเดือดเพื่อให้เทียนออกหมดจากผ้า
ตลาดสำหรับจำหน่ายผ้าบาติก
- สามารถนำไปขายส่งตามร้านค้าหรือร้านขายของที่ระลึกทั่วไป หรือนำไปขายในงานจัดแสดงสินค้าต่างๆ หรืออาจจะเปิดร้านค้าจำหน่ายผ้าบาติกเองตามแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป
ข้อแนะนำ
- กรอบไม้ (Frame) ควรทำด้วยไม้เนื้ออ่อนเพื่อง่ายต่อการใช้หมุดยึดผ้า ดึงออกได้สะดวก และกรอบไม้ควรทำให้สามารถปรับขนาดและความกว้าง-ยาวตามขนาดของชิ้นงานต่างๆ ได้
- ผ้าที่ใช้ทำผ้าบาติกไม่ควรหนาเกินไป เพื่อที่จะให้เทียนได้ซึมผ่านทะลุถึงอีกด้านหนึ่งได้ แต่ถ้าต้องใช้ผ้าหนาจะต้องลงเทียนทั้งสองหนา
- ผ้าที่เหมาะสำรหับทำผ้าบาติก ได้แก่ ผ้าฝ้าย ลินิน วิสโคส และไหม เนื่องจากเส้นใยผ้าเหล่านี้สามารถย้อมติดสีที่ใช้กรรมวิธีย้อมเย็นได้ดี (อุณหภูมิไม่เกิน 35 องศา)
- ควรมีหีบห่อบรรจุชิ้นงานที่โปร่งใส เพื่อให้เห็นสีหรือลายผ้าชัดเจน
- เมื่อทำผ้าบาติกเสร็จพร้อมจำหน่ายแล้ว ควรติดป้ายระบุราคาให้เรียบร้อย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กองส่งเสริมการมีงานทำ www.doe.go.th/vgnew




