ทายาทธุรกิจครอบครัว นอกจากความรู้สึก “ดีใจ” ที่จะได้บริหารงานแล้ว ร้อยทั้งร้อยเชื่อว่ารู้สึก “กังวล” มากกว่าเสียอีกที่จะต้องรับผิดชอบสิ่งต่างๆที่ไม่เคยทำมาก่อน ความกังวลเกิดขึ้นตลอดเวลา “เราจะบริหารงานได้มั้ย? เราจะสร้างปัญหาให้ลูกค้ามั้ย? ลูกน้องพ่อจะเคารพเรามั้ย?” และคำถามอีกมากมาย
1. อด และ ทน เพื่อพิสูจน์ตัวเอง
เหตุผลแรกเลยคือ ในสายตาพ่อแม่คุณจะดูเป็นเด็กอยู่เสมอ ไม่ว่าตอนนี้คุณจะเรียนจบปริญญาแล้ว แต่ประสบการณ์ยังไม่แกร่งพอ พ่อแม่จึงเกิดความ “เป็นห่วง” ห่วงว่าคุณจะไหวมั้ย ห่วงว่าธุรกิจจะรอดมั้ย คุณจะแก้ปัญหายังไง
คนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างคุณอาจมีไอเดียดีๆ หรือโปรเจ็คใหม่ๆมากมาย ที่อุตส่าห์ตั้งใจคิดและศึกษามาอย่างดีเพื่อพัฒนาธุรกิจครอบครัว พ่อแม่อาจจะเห็นด้วยนะแต่…ส่วนใหญ่ไม่อนุมัติ! เพราะเค้ายังกังวลว่าถ้าให้ทุนมา คุณจะทำได้ตามแผนมั้ย กลัวคุณทำธุรกิจขาดทุน ฯลฯ เหตุผลอีกเยอะแยะมากมาย
หนึ่งเดียวที่คุณทำได้จึงเป็นการ “อดทนเพื่อพิสูจน์ตัวเอง”
แนะนำว่าให้เริ่มจากความสำเร็จเล็กๆก่อน อย่างการที่คุณสามารถคุมลูกน้องของพ่อได้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ดูแลลูกค้าจนมีลูกค้าชม สร้างระบบการส่งของจนเป็นระบบ รวมถึงสามารถทำโปรเจ็คเล็กๆที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ อย่างนี้เป็นต้น การพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวเห็นว่าคุณสามารถบริหารธุรกิจครอบครัวได้อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี สองปี ซึ่งแต่ละธุรกิจแตกต่างกันไป แต่ก็เป็นก้าวสำคัญมากๆที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเองค่ะ
2. ซื้อ“ใจ” ด้วย“ใจ” เลี่ยงการซื้อใจด้วยเงิน!!
ถ้าคุณเป็นคนเจ้าอารมณ์ ขี้โวยวาย ชอบด่าลูกน้องกระจาย สิ่งที่คุณกำลังสร้างคือ “ความโกรธ ความเกลียด” ในใจลูกน้อง ถึงแม้เวลาผ่านไปคุณจะใจเย็นลงและสำนึกได้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นแรงเกินไป แล้วไถ่โทษความโกรธด้วยการเลี้ยง หรืออะไรก็ตามที่แลกมาด้วยตัวเงิน
พึงระลึกไว้เลยว่าต่อไปเวลาคุณโกรธก็ต้องขอโทษด้วยการ “ใช้เงิน” เสมอ รู้มั้ยคะว่าลูกน้องไม่ได้หายโกรธคุณหรอก!
เค้าตอบสนองสิ่งที่คุณให้ไปเพื่อชดเชยความเจ็บปวดเท่านั้น ถ้าวันหนึ่งคุณไม่เลี้ยงหรือไม่ให้เงิน ลูกน้องก็พร้อมที่จะเลิกสวามิภักดิ์ต่อคุณ แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าจะใส่ใจคนอื่นด้วย “ความจริงใจ” อย่างน้อยก็บอกกับลูกน้องว่าอย่าถือโทษโกรธกันนะ บางทีทำงานจริงจังไปหน่อย และที่สำคัญเมื่อรู้ว่าตัวเองโกรธ จงหัดระงับอารมณ์บ้าง หัดเป็นผู้คุมสถานการณ์อย่าเป็นผู้ไหลไปตามสถานการณ์
“การรู้จักควบคุมอารมณ์นอกจากจะทำให้ลูกน้องจงรักภัคดีแล้ว ยังเป็นการแสดงออกของผู้บริหารมืออาชีพด้วย”
3. จงดูแลลูกน้องดีๆ โดยเฉพาะลูกน้องที่เก่งและไว้ใจได้
ยกตัวอย่างเจ้าแห่งกาแฟอย่างบริษัท “สตาร์บัคส์” เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องพนักงานมาก สตาร์บัคส์จะไม่เรียกพนักงานว่า “พนักงาน”! แต่เรียกว่า “พาร์ทเนอร์” (Partner) เพราะถือว่า สมาชิกทุกคนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทเจริญเติบโต เป็นคนส่งมอบการบริการที่ดีให้กับลูกค้า เป็นคนที่ใกล้ชิดลูกค้าที่สุด ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญที่สุด ฉะนั้นถ้าไม่มีพนักงาน สตาร์บัคส์ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เท่าทุกวันนี้
กลับมาที่ธุรกิจครอบครัว… ถ้ามีลูกน้อง ส่วนมากจะเป็นลูกน้องเก่าแก่ที่ทำงานมาตั้งแต่ปู่ย่าบุกเบิกเลยก็มี การที่ลูกน้องอยู่กับธุรกิจครอบครัวของคุณนาน ส่วนหนึ่งก็เพราะเค้าอยู่ด้วยใจ เพราะจงรักภัคดีต่อเถ้าแก่รุ่นก่อน
ฉะนั้นเมื่อคุณเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว จึงต้องต้องให้ความสำคัญให้มาก เพราะนอกจากเค้าจะจงรักภัคดีต่อธุรกิจและครอบครัวแล้ว ยังเป็นลูกน้องที่มีฝีมือ เก่งในรับดับหนึ่ง และเป็นงานอีกด้วย หยิบยื่นน้ำใจให้บ้าง ถามไถ่ถึงครอบครัวเค้าบ้าง ร่วมเหนื่อยกับเค้าบ้าง เลี้ยงเครื่องดื่มชูกำลังบ้าง น้ำใจเล็กๆน้อยๆแค่นี้ก็สร้างความประทับใจได้แล้ว
คำถามจากเจ้านายว่า “เหนื่อยมั้ย ไหวมั้ย” อาจเป็นคำธรรมดา แต่สร้างกำลังใจให้กับลูกน้องได้ดี
4. คิดถึงข้องดีของการทำธุรกิจครอบครัว ได้เป็นหัวหน้าคน ได้เงินเยอะกว่าทำงานประจำ
หากต้องมารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวในขณะที่ “ใจ” ยังไม่พร้อม คุณอาจจำเป็นต้องหาเหตุผลดีๆมาสนับสนุนก็ได้ เช่น ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ไม่ต้องตื่นเช้า นั่งติดอยู่ในรถบนถนน หรือได้เงินเดือนเยอะกว่าพนักงานประจำ ไม่ต้องไปเป็นลูกน้องใคร ไม่ต้องทนยิ้มทั้งๆที่ใจไม่ชอบ หรือเหตุผลดีๆที่จะทำให้คุณรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวได้อย่างมีความสุข
5. ใจกว้าง พูดให้น้อย ฟังให้มาก คิด วิเคราะห์ให้มาก
เป็นเด็กใหม่ไฟแรง ย่อมมีไอเดียเป็นสิบเป็นร้อย อยากทำนั่น อยากพัฒนานี่ มีความคิดเป็นของตัวเอง เห็นว่าแต่ก่อนเป็นการบริหารงานที่ล้าสมัย แต่ทุกความคิดมักถูกปฏิเสธหรือถูกห้ามไปเสียหมด คิดแล้วชวนหงุดหงิด
ใจเย็นๆก่อนค่ะ ยอมรับฟังคำแนะนำจากพ่อแม่บ้าง เมื่อลูกค้าบอกหรือตำหนิ แม่กระทั้งคำแนะนำจากลูกน้องเก่า ก็อาจมีประโยชน์ เพราะเค้าอยู่มานานย่อมมีประสบการณ์มากกว่าเรา ถึงจะผิดบ้างถูกบ้าง อย่างน้อยก็น่าจะถูกมากกว่าผิด ธุรกิจถึงอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ จริงมั้ยคะ
ผ่านไปแล้วกับ 5 เทคนิคแรก เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ แอดมินว่าน่าจะเป็นแนวทางในการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวให้กับใครหลายคนได้บ้าง แต่ยังไม่หมดเท่านี้ เรายังมีอีก 6 เคล็ดลับที่จะเป็นไกด์นำทางให้คุณบริหารงานครอบครัวอย่างยั่งยืน ติดตามในบทความหน้านะคะ